ReadyPlanet.com
dot
dot
dot
dot




เล่นตะกร้อ หายจาก “อัมพฤกษ์” (ตอนที่ 1)

เล่นตะกร้อ หายจาก “อัมพฤกษ์” (ตอนที่ 1)

วัฒนา  วิเศษชาญเวทย์ มีทุกสรรพปัจจัยซึ่งชายวัยห้าสิบผู้ประสบความสำเร็จคนหนึ่งจะพึงปรารถนา  เป็นเจ้าของธุรกิจร้านเพชร  กินดีอยู่ดี  มีครอบครัวอบอุ่น  แม้จะมีเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว  แต่เขาก็ออกกำลังกายชดเชยด้วยการร่วมวงเล่นตะกร้อกับเพื่อนๆ ถือว่ารักษาสุขภาพได้ดีสมวัย วัฒนาสุขกับชีวิตมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อ 8 ปีก่อนในหน้าร้อน อากาศแสนอบอ้าววันหนึ่งชวนให้เหนื่อยเพลีย  เขารู้สึกอ่อนแรงเป็นพิเศษ

 

ขณะนั่งคุยกับลูกสาวทางโทรศัพท์  จู่ๆ วัฒนาก็ตะกุกตะกัก  นึกคำพูดไม่ออก ขยับปากลำบาก พูดช้า  ลิ้นแข็ง  ให้ลูกชายสังเกตหน้าตาวัฒนาจึงรู้ว่าปากตัวเองเริ่มบิดเบี้ยว  เขารู้ว่าต้องไปโรงพยาบาลโดยด่วน แต่เพียงจะลุกขึ้นเตรียมตัวเขาก็ทำไม่สำเร็จ  ความเหน็บชายึดครองทั้งสองขาจนลูกชายต้องพยุงขึ้นรถแท็กซี่อย่างทุลักทุเล 

 

ทำไมร่างกายไม่ทำตามคำสั่งของสมองตามปกติ? -- วัฒนาสงสัยเป็นที่สุด ไม่นานวัฒนาก็ได้รู้ว่าทำไม... แต่เขาไม่ได้โชคดีที่รู้! โดยเฉพาะการได้รู้จักอย่างแท้จริงว่าอัมพฤกษ์คืออะไร

 

อัมพฤกษ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของวัฒนา เขาต้องอยู่ร่วมกับมันอย่างจำยอม 
รับทุกขเวทนาอย่างจำนน  แต่ด้วยความมุ่งมั่นและแรงใจจากคนรอบข้าง เขากลับมาเล่นตะกร้อได้และรอดพ้นจากภัยโรคร้ายที่หมดโอกาสซ้ำเติมเขาจนมากเกินมันผ่านมาแล้วผ่านไปในท้ายที่สุด ทิ้งบทเรียนให้เขาได้พิจารณาคุณค่าวิกฤติชีวิตในช่วงนั้น... ซึ่งเขาระลึกได้อย่างแจ่มชัด

 

วันนี้ วัฒนายินดีเล่าประสบการณ์ผจญภัยโรคอัมพฤกษ์แก่ทุกคน

โชคร้ายหรือโชคดี?

 

ก่อนห้าโมงเย็นเล็กน้อยของแทบทุกวัน  ผู้ใช้สวนรมณีนาถประจำจะคุ้นเคยกับภาพชายร่างเล็กในชุดกางเกงขาสั้นและเสื้อกีฬาเดินผ่านประตูสวนเข้ามา เป้แบกกลางหลังทำให้เขาดูทะมัดทะแมงกว่าคนวัยใกล้เกษียณโดยทั่วไป  จุดหมายของวัฒนาคือบริเวณพิพิธภัณฑ์ทัณฑสถาน (เรือนจำกลางเดิม) ติดกับสวน ที่ซึ่งเขาและเพื่อนๆ จะล้อมวงเล่นตะกร้ออย่างเบิกบานสำราญใจ กระทั่งแสงอาทิตย์หรุบหรู่มองลูกตะกร้อไม่เห็นนั่นละถึงจะเลิกรากัน

 

วัฒนามีกิจวัตรยามเย็นเช่นนี้นับเนื่องมาหลายปีแล้ว  ถ้าไม่รู้มาก่อน ใครๆ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมวงตะกร้อบางคนก็ดูไม่ออกว่า  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน...  การเตะตะกร้อเพียงให้โดนลูกเป็นความฝันที่วัฒนาเคยคิดว่าห่างไกลความเป็นจริงเสียเหลือเกิน

 

“มันเตะไม่ได้ คำนวณลูกไม่ถูก  ไม่มีแรงจะเตะ” วัฒนาเล่าถึงความหลังครั้งลองกลับมาเล่นตะกร้อใหม่ในฐานะผู้ป่วยอัมพฤกษ์

 

“แค่ใส่รองเท้าใส่ถุงเท้ายังเหนื่อยเลย”

 

ว้าวุ่นสักเพียงใด แต่วัฒนายังครองสติได้ดี  เขารู้ดีว่าไม่มีอะไรจะเลวร้ายเท่า 1-2 สัปดาห์แรกที่ต้องนอนซมบนเตียงโรงพยาบาลเพราะถูกอัมพฤกษ์โจมตีอีกแล้ว  ตอนนั้นเขาเดินไม่ได้เลย ที่จริงแม้แต่การขยับแข้งขายังลำบากแสนเข็ญ ช่างชวนให้หวั่นเกรงว่าเขาจะเดินได้ตามปกติหรือไม่ในวันข้างหน้า...

 

หมอวินิจฉัยว่าวัฒนาเป็นโรคอัมพฤกษ์ อันเกิดจากการตีบตัวของหลอดเลือดใกล้แกนสมอง ที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงอันตรายที่สุดซึ่งผู้ป่วยอาจถึงกับเสียชีวิตหรือไม่ก็อาจพิการไปตลอด 

 

หากวันนั้นเขาไปโรงพยาบาลช้าไปสักเสี้ยวนาที  บางทีหมออาจไม่สามารถทำให้หลอดเลือดในสมองของเขาคลายตัวได้ทันเวลาก็เป็นได้

           มหันตภัยใกล้ตัว

 

อัมพฤกษ์ เป็นอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลอดเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก ส่งผลให้เนื้อสมอง ซึ่งทนต่อภาวการณ์ขาดเลือดได้น้อย เกิดพยาธิสภาพขึ้น ความรุนแรงขึ้นอยู่กับตำแหน่งหลอดเลือดในสมองและขนาดของพยาธิสภาพ ถ้าเป็นน้อยอาจรื้อฟื้นสภาพได้บ้าง แต่หากเป็นมากอาจเป็นอัมพาตหรือพิการถาวร หรือเสียชีวิต

 

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับสาม  รองจากโรคหัวใจและมะเร็ง

 

เมื่อเร็วๆ นี้ (สิงหาคม 2547)  กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทย 12 คนล้านคนมีความเสี่ยงเป็นพิการจากหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน หรือที่รู้จักทั่วไปว่าอัมพฤกษ์หรืออัมพาต โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองวันละ 126 คน หรือชั่วโมงละ 5 คน ทั้งนี้ที่เหลือ 80% จะมีความพิการ แต่ละปีมีคนไทยที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต 150,000 คน  แต่ละรายใช้เวลาพักฟื้นนานมากและเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาทต่อปี 

 

สาเหตุของการโรคหลอดเลือดสมองเกี่ยวเนื่องกับอีกหลายโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป 2-17 เท่า  ซึ่งเป็นกรณีของวัฒนา

 

วัฒนามีความรู้ว่าการเล่นกีฬาจะทำให้โรคประจำของเขาทุเลาความร้ายแรงลง  แต่เขาทึกทักไปเองด้วยว่าเมื่อออกกำลังกายแล้วก็ควรลดยาลงบ้าง  คิดแล้วเขาจึงทิ้งยาสำหรับความดันโลหิตสูงไปนาน  ซึ่งในที่สุดหมอสันนิษฐานว่าการทิ้งยานี้ไปโดยไม่ตรวจสภาพร่างกายและไม่ปรึกษาหมอนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการหลอดเลือดสมองตีบของเขา

           รางวัลที่ไม่ยุ่งเหล้า-ยา

 

แม้จะบอกว่าโชคดีที่ไปโรงพยาบาลทันท่วงทีทำให้หมอสามารถทำให้หลอดเลือดสมองที่ตีบคลายตัวก่อนจะสายเกินไป  แต่เราต้องรู้สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือ วัฒนาไม่กินเหล้า-ไม่สูบบุหรี่   รางวัลที่ได้รับยามวิกฤติจึงได้แก่การที่ร่างกายของเขาฟื้นคืนได้รวดเร็วกว่ากรณีผู้ดื่มเหล้า-สูบบุหรี่เป็นประจำ

 

“หลอดเลือดที่ตีบของเราจะคลายตัวได้เร็วกว่า”  วัฒนาถ่ายทอดคำพูดหมอ

 

ข้อมูลทางการแพทย์บ่งชี้ว่าว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง  เลือดแข็งตัวง่าย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ  บุหรี่ก็ทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอแข็งตัวได้ง่าย ผู้ติดบุหรี่จึงเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่าคนทั่วไป 1-2 เท่า

 

ข้อมูลที่ว่าบุหรี่และสุราเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเป็นอัมพฤกษ์นี้วัฒนาบอกว่าคนทั่วไปไม่ได้รับรู้กันมากนัก

          ตั้งไข่ (ใหม่) เมื่อวัยห้าสิบ

 

พอเริ่มขยับได้วัฒนาต้องฝึกฝนกายภาพบำบัดทั้งเช้า-เย็น ภาษาชาวบ้านก็คือหัดเดินใหม่นั่นเอง ถึงจะยากเย็นปานใดเขาก็ต้องแข็งใจทำเช่นเดียวกับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ทุกคน ไม่เช่นนั้นโอกาสในการรื้อฟื้นของร่างกายก็จะมีน้อย  บางครั้งบางคราวเขาต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน 

 

เดือนแล้วเดือนเล่าผ่านไปด้วยความหวังและการรอคอย  ท่ามกลางความอดทนและทรมาน 

 

วัฒนาเริ่มก้าวเดินได้บ้าง แต่ละก้าวช่างเชื่องช้า  เหนื่อยหนัก  หากเขายังมีกำลังใจเสมอ ช่วงพักฟื้นที่แสนจะหดหู่นี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ออกไปพบปะเพื่อนฝูง เขามักจะนั่งสามล้อออกไปหาเพื่อนๆ ในวงตะกร้อ

 

เฝ้าดูผู้อื่นละเล่นกีฬาโปรดของตัวเอง คาดหวังแต่เพียงการได้มีโอกาสได้ปรับสารทุกข์สุกดิบกับเพื่อนฝูง  หรืออย่างดีก็ฝันเพียงการกลับมาเดินได้อย่างมั่นคงขึ้นไม่ง่อนแง่นนักอย่างที่เป็นอยู่…

 

“หลังจากความทรมานแล้วคุณวัฒนาจัดการอย่างไรกับชีวิตของตัวเอง อะไรคือแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นเตะตะกร้อ ติดตามตอนที่ 2”

 

 




นานาสาระเกี่ยวกับ สุขภาพจิต

ลักษณะที่ควรหลีกเลี่ยง : เมื่อคุณคือคนทำงาน
รู้จักรู้ใจ ๑๓ - ๑๕ ปี article
อยากรู้ว่า ตัวตนคุณเป็นคนแบบไหน
ตอนนี้ คุณเครียดระดับไหนลองทำแบบทดสอบดูสิ
20 นิสัยไม่ดีสำหรับการใช้ชีวิตคู่
เบื่องาน
วิธีช่วยเหลือผู้ที่มีเพื่อน,ญาติ หรือ คนสนิทเสียชีวิตใหม่ๆ
ส่วนไหนของชาย ที่สาวแอบสำรวจ?
นอนไม่พออาจมีปัญหาทางเพศ article
เตะตะกร้อ หายจาก "อัมพฤกษ์" (ตอนที่ 2) article