ReadyPlanet.com
dot
dot
dot
dot




เมื่อเจ้าตัวเล็กกระดูกหัก
วันที่ 04/12/2008   14:34:37

 

เมื่อเบบี้ กระดูกหัก

 

 

 

 

 

กระดูกหักจากอุบัติเหตุ

 

แรกเกิด ที่พบคือจากการคลอด โดยเฉพาะหากเด็กตัวโตคลอดยาก บริเวณที่หักมักเป็น ไหปลาร้า สะโพก ต้นขา แขน ซึ่งมีวิธีการสังเกตค่ะ

  • ถ้ากระดูกหักที่แขน ปกติเวลาร้องไห้จะยกแขนขาทั้งสองข้างขึ้น หากเด็กกระดูกหักจะยกข้างเดียว ข้างที่หักจะไม่ยกช่วงแรกๆ อาจมีเพียงอาการบวมที่บริเวณหัวไหล่ให้เห็น พอผ่านไป 2-3 วัน ถ้ามีเลือดออกอยู่ข้างในมาก ก็จะซึมออกมาเป็นรอยเขียวๆ คล้ายรอยฟกช้ำให้เห็นชัดที่ผิว
  • ถ้ากระดูกหักบริเวณขา หรือสะโพก แม้จะมีเลือดออกอยู่ข้างใน แต่มักจะไม่ค่อยเห็นรอยเขียวเพราะเนื้อต้นขาและสะโพกที่หนาจะบังไว้ จะเห็นเพียงแค่อาการบวมและเด็กก็ไม่ขยับ ถ้าลูกมีอาการดังกล่าว ให้พาไปพบหมอเลยค่ะ

ช่วงก่อนคลาน (1-6 เดือน) มักเกิดจากการตกจากที่สูงความไม่ระวังของพ่อแม่ เช่น วางลูกไว้บนเตียง ลูกอาจกลิ้งตกลงมา ถ้าเด็กเอาส่วนไหนลงมาก่อนส่วนนั้นก็จะหักค่ะ

ช่วงคลาน ยืน เดิน (6 เดือนขึ้นไป) เป็นช่วงที่ลูกกำลังซนค่ะจึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าช่วงอื่น เช่น ตกบันได หกล้ม หรือการใช้รถหัดเดิน

 

 

บริเวณที่พบว่ากระดูกหักบ่อยที่สุด คือ ข้อศอก ข้อมือ เพราะวัยขวบแรกนั้นยังเดินไม่แข็งเท่าไร แต่จะเริ่มจับเริ่มปีน เมื่อปีนแล้วทรงตัวไม่อยู่ก็มักจะล้ม ถ้าใช้มือยันเอาไว้ ก็อาจทำให้ข้อศอกหรือข้อมือหักได้ง่าย

 


กระดูกหักจากสาเหตุอื่นๆ

 

โรคกระดูกเปราะ จะพบน้อยมาก เกิดจากการขาดคอลลาเจนที่เป็นส่วนประกอบหลักของกระดูก หากเปรียบกระดูกคือเสาต้นหนึ่ง แคลเซียมเปรียบเหมือนปูน คอลลาเจนจะเปรียบเหมือนเหล็กเส้นภายในที่ช่วยยึดให้มีความเหนียว ยืดหยุ่นได้ดีค่ะ

 

เด็กที่เป็นโรคกระดูกเปราะจะสร้างคอลลาเจนผิดปกติ กระดูกจึงหักง่าย หากเป็นแบบรุนแรงมักจะเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด ถ้าเป็นแบบไม่รุนแรงเด็กจะมีอาการกระดูกง่ายกว่าเด็กปกติบางทีแค่ยืนกระดูกก็หักได้แล้วค่ะ จึงต้องระวังมากเพื่อไม่ให้กระดูกกระทบกระเทือน เพราะโรคนี้ไม่มีวิธีรักษา แต่จะดีขึ้นเองเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะกระดูกจะแข็งแรงขึ้น แม้ไม่แข็งแรงเหมือนกับคนทั่วไป แต่ก็ไม่หักง่ายเหมือนกับตอนที่เป็นเด็กค่ะ

 

เด็กถูกทำร้ายร่างกาย ในบ้านเราเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายจนกระดูกหัก อาจจะพบได้น้อยกว่าในต่างประเทศ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ มีข้อสังเกตง่ายๆ คือ ตำแหน่งที่หักมักจะเป็นตำแหน่งที่หักยาก เช่น ซี่โครง สันหลัง ที่ต่อให้เด็กวิ่งล้มลงไปก็ไม่หักยิ่งถ้าแม่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ยิ่งต้องระวังและคอยสังเกตนะคะ

 


การรักษาเมื่อลูกกระดูกหัก

 

การรักษาโรคกระดูกหักทำได้ 2 วิธีค่ะ คือการใส่เฝือก และการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกแล้วใส่เฝือกอีกที เด็กที่เป็นตอนแรกคลอด ใช้เวลาในการรักษา 2-3 อาทิตย์กระดูกก็ติดแล้ว และมักจะต่อติดใกล้เคียงกระดูกเดิม ไม่มีอะไรน่าหนักใจ

 

มีข้อควรระวัง หากกระดูกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ แตก หรือหักเป็นกระดูกที่เรียกว่ากระดูกอ่อน อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกผิดรูปไปจนโตได้

 

การจะรู้ว่ากระดูกส่วนไหนหัก ต้องอาศัยการเอกซเรย์ช่วยถ้าสงสัยว่ากระดูกอ่อนหัก คุณหมอจะเอกซเรย์ทั้งสองข้างเพื่อเปรียบเทียบกันค่ะ

 

ข้อควรระวัง อาการกระดูกหักจะคล้ายกับการติดเชื้อของกระดูก ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากระหว่างการคลอด หรือคุณแม่มีน้ำเดินก่อนกำหนดนานๆ จนมีขี้เทาออกมา ทำให้เด็กดูดและสำลักเข้าไป หรือเด็กเป็นปอดบวมอยู่แล้วเชื้ออาจจะกระจายไปที่กระดูก ซึ่งถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีไข้ หรือแรกคลอดลูกไม่ค่อยสมบูรณ์ต้องเข้าตู้อบ หรือต้องให้น้ำเกลือ แล้วมีอาการไม่ขยับแขน ขา บวม มีจุดช้ำ ร่วมกับมีไข้ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นการติดเชื้อในกระดูกหรือเป็นฝีที่กระดูก ซึ่งการติดเชื้อเป็นสิ่งพ่อแม่ต้องระวัง ต้องรีบรักษาทันที

 


ดูแลหนูยามใส่เฝือก
1. อย่าให้โดนน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่หัก เช่น ขา ช่วงนี้ต้องให้ลูกใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปไว้ค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าและหากน้ำเข้าต้องรบไปพบคุณหมอเพื่อเปลี่ยนเฝือก เพราะผิวเด็กบอบบางอยู่แล้ว หากมีน้ำเข้าไปขังและอบไว้นานๆ อาจทำให้ผิวเปื่อย เวลาแกะเฝือกออกมาอาจทำเนื้อถลอกได้ค่ะ

 

2. เฝือกแน่นเกินไป กระดูกที่หักจะมีเลือดออกภายใน หากใส่เฝือกแน่นไป เลือดที่ออกบริเวณกระดูกยังออกมาไม่หมด จะทำให้เกิดอาการบวม ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ก็จะยิ่งทำให้เฝือกรัดแน่นยิ่งขึ้น จนไปกดทับเส้นเลือดต่างๆ เช่น
  • ถ้าไปกดทับหลอดเลือดแดง จะทำให้เลือดไหลไปปลายมือเท้าไม่ได้ มือจะซีด เพราะขาดเลือดไปเลี้ยง เด็กจะปวดและมือจะค่อยๆ บวมขึ้น

     

  • ถ้ากดถูกหลอดเลือดดำ เลือดแดงส่งไปได้ แต่ไหลกลับไม่ได้ จะทำให้มือเกิดอาการบวมมาก เล็บจะมีสีม่วงเพราะขาดออกซิเจน

     

    แต่ไม่ว่าจะซีดม่วงหรือบวม เด็กจะร้องตลอดเลย ปล่อยไว้ไม่ได้ต้องรีบพาไปหาหมอด่วนค่ะ หลังจากผ่าเฝือกที่แน่นๆ ออกภายใน 2-3 ชั่วโมง เด็กจะหายปวด
3. คันในเฝือก เด็กที่เริ่มคลาน เริ่มซน เมื่อใส่เฝือกไปสัก 1 อาทิตย์ จะเริ่มมีอาการคัน ซึ่งเกิดจากการหมักหมมของเหงื่อและความร้อน เมื่อเด็กคันจะพยายามเกา แกะหรือทำให้เฝือกเสียหาย คุณแม่ต้องคอยระวังด้วยคะ เพราะหากเฝือกไม่แข็งแรงอาจจะทำให้กระดูกเคลื่อนได้

 

ปัจจุบันยังไม่มียาแก้คันในเฝือก วิธีป้องกันก็คือ ถ้าลูกใส่เฝือกอยู่ อย่าให้ลูกเล่นจนเหงื่อออก หรืออยู่ในที่ที่อากาศร้อนค่ะ

 

4. อย่าห่มเฝือก วิธีการใส่เฝือกจะใช้ปูนหล่อห่อหุ้มอวัยวะส่วนที่หัก ซึ่งการจะรอให้ปูนแห้งสนิทต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง น้ำในเฝือกจึงจะระเหยได้ดี และปูนแข็งตัวเต็มที่ ฉะนั้นในขณะที่เฝือกยังไม่แห้ง ห้ามห่มเฝือกนะคะ เช่น ผ้าห่ม ห่มตัวให้ลูกชั่วโมงแรกกลัวว่าจะหนาว เว้นที่ตรงที่ใส่เฝือกไว้ค่ะ รวมทั้งใน 24 ชั่วโมงแรกที่เฝือกยังไม่แข็ง ต้องระวังไม่ให้เด็กไปถูกหรือไปตีเพราะอาจจะทำให้เฝือกแตกไปเลยก็ได้

 

5. ห้ามให้เด็กเดิน กรณีที่เด็กเดินได้แล้ว ต้องใส่เฝือก เด็กอาจจะไม่อยู่นิ่ง ซึ่งการรักษาอาการกระดูกหักบางตำแหน่งจะห้ามไม่ให้เด็กยืนหรือเดิน เพราะจะทำให้กระดูกซ้นเข้าหากันเคลื่อนไป หรือโก่ง เราต้องระวังอย่างมาก

 

6. แผลผ่าตัดต้องระวัง ในเด็กที่ผ่าตัดใส่เหล็กและใส่เฝือกมีข้อระวังเพิ่มเติมคือ 7 วันแรกให้พาไปทำแผลทุกวัน วันละครั้งและใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด อาจจะมีเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัดบ้างนิดหน่อย แต่ถ้าเลือดออกมาเยอะๆ จนดูแดง และบริเวณที่มีเลือดขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบพากลับไปหาแพทย์แต่ถ้าซึมออกมาเป็นวงเล็กๆ และไม่ได้ขยายตัวเร็วก็ไม่เป็นไรค่ะ
และเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 อาทิตย์ หลังจากแผลหาย ไม่มีเลือดออกแล้ว ถ้าเกิดมีน้ำเหลือง หนอง หรือมีกลิ่นเหม็น ต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นแผลอักเสบเกิดเป็นหนองขึ้นภายในอาจจะต้องมีการทำแผลเพิ่มเติมค่ะ

 

ที่สำคัญอย่าลืมช่วยกันป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะมีส่วนทำให้เจ้าตัวเล็กของเรากระดูกหัก ด้วยนะคะ

 


ป้องกันอุบัติเหตุให้เจ้าตัวเล็ก
  • อย่าทิ้งลูกให้อยู่คนเดียวในที่สูง เช่น บนเตียง เพราะเด็กอาจกลิ้งตกลงมาได้
  • เด็กที่เริ่มเดินแล้วควรอยู่ให้ไกลจากบันได หรือถ้าอยู่ข้างบนก็ควรปิดประตูห้องให้มิดชิด
  • คอยระวังอย่าให้เด็กปีนป่ายโต๊ะ
  • ถ้าคุณพ่อคุณแม่นอนกับลูกก็ควรเอาหมอนข้างคั่นระหว่างคุณกับลูกเอาไว้ เพราะมีพ่อแม่บางท่านที่กลิ้งมาทับลูกจนแขนหักค่ะ.

สงสัยข้อมูลหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ค่ะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลเทพปัญญา  ศูนย์อุบัติเหตุศํลยแพทย์ 24 ชั่วโมง

 




บทความวิชาการและวิทยาการสมัยใหม่

ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 วันที่ 28/10/2010   11:54:22 article
บทความเรื่อง : ฆาตกรเงียบ วันที่ 21/10/2010   14:28:00
รู้จักกับ “แก๊สน้ำตา” วันที่ 21/10/2010   14:29:59
ความรู้ในเรื่องเลือดส่วนประกอบของเลือด และการบริจาค วันที่ 29/11/2008   13:09:39
7 อาการปวดที่ไม่ควรมองข้าม วันที่ 29/11/2008   13:17:15
การรักษากระดูกหักด้วยการผ่าตัดดามโลหะ วันที่ 04/12/2008   14:35:07
การต่อนิ้วหัวแม่มือ วันที่ 04/12/2008   14:35:37
แผลเป็นและเป็นแผล วันที่ 04/12/2008   14:36:31
บาดแผล เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา วันที่ 02/12/2008   09:58:34
ป้องกัน “ดวงตา” จากอุบัติเหตุรถยนต์ วันที่ 04/12/2008   14:33:39
โปรดระวังอันตรายจาก คลอโรฟอร์ม วันที่ 04/12/2008   14:37:49
นอนไม่หลับทำงัยดี วันที่ 04/12/2008   14:32:25
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม วันที่ 00/00/0000   00:00:00
กลัวการผ่าตัดอ่านทางนี้ วันที่ 00/00/0000   00:00:00
ปลูกถ่ายฟัน.........ทางเลือกของคนฟันผุ วันที่ 04/12/2008   14:31:44 article
ตรวจมะเร็งได้จากการตรวจเลือด วันที่ 04/12/2008   14:31:11 article
ปวดต้นคอทำอย่างไร วันที่ 04/12/2008   14:30:24
มันมากับรองเท้า วันที่ 04/12/2008   14:29:21
ตู้ขายน้ำดื่มอัตโนมัติแหล่งปนเปื้อนที่น่ากลัว วันที่ 04/12/2008   14:29:42 article
คนไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมีย วันที่ 04/12/2008   14:28:50