ReadyPlanet.com
dot
dot
dot
dot




ปลูกถ่ายฟัน.........ทางเลือกของคนฟันผุ article
วันที่ 04/12/2008   14:31:44

ปลูกถ่ายฟัน...ทางเลือกของคนฟันผุ
      

 มั่นใจว่าหลายคนผ่านประสบการณ์ปวดฟันเนื่องจากฟันผุกันมาบ้าง และก็คงรู้สึกเข็ดขยาดกับอาการดังกล่าวกันเป็นอย่างดี จากนั้น ก็คงมานั่งนึกเสียใจว่า ทำไมที่ผ่านมาถึงไม่รู้จักดูแลรักษาฟันกันให้ดี ปล่อยทิ้งปล่อยขว้างจนกระทั่งมีปัญหาต้องไปหาหมอให้ช่วยถอน
ในรายที่หนัก ไม่สามารถเยียวยาให้ของจริงกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ก็ต้องหันไปใช้ “ฟันปลอม” แทน
       
       อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นับว่าโชคสำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันผุแล้วมีอายุระหว่าง 15-25 ปี เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมอีกแล้ว เพราะได้มีการคิดค้นแนวทางรักษาฟันเพื่อขจัดปัญหาความยุ่งยากขณะใช้ฟันปลอมเกิดขึ้น นั่นก็คือ “การปลูกถ่ายฟัน”
       

       การปลูกถ่ายฟันเป็นอย่างไร ได้ผลแค่ไหน คงต้องไปติดตามจากทันตแพทย์ผู้ชำนาญกัน
       
       ศ.ทญ.อรสา ไวคกุล แห่งภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา ปี 2547 เรื่อง “การปลูกถ่ายฟัน” บอกว่า ก่อนที่จะรู้จักการปลูกถ่ายฟันนั้น คงต้องอธิบายปัญหาเรื่องฟันของคนไทยกันก่อนว่า เป็นอย่างไรและมีปัญหาที่ตรงไหนบ้าง
   ศ.ทญ.อรสา เล่าให้ฟังว่า ฟันผุกับคนไทยเกือบเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน สังเกตได้จากคนอายุน้อยก็มักมีอาการปวดฟัน บางคนฟันแท้เพิ่งขึ้นแต่ต้องมาถูกถอนแล้ว และหันมาพึ่งฟันชุดที่สามหรือฟันปลอมแทน ทั้งนี้ ต้นเหตุของฟันผุเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้วแปรงฟันไม่สะอาด
       
       นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากพฤติกรรมการแปรงฟันที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่แปรงแบบลวกๆ แปรงไม่ทั่วถึง บางคนแปรงฟันไม่ถึงนาที
       
       “หากต้องการแปรงฟันให้สะอาดควรแปรงให้ครบทุกซี่ทั้งด้านในและด้านนอก โดยใช้เวลาแปรงอย่างน้อย 4-5 นาทีต่อหนึ่งครั้ง อ้อ...อย่าลืมแปรงลิ้นด้วย”
       
       สำหรับการปลูกถ่ายฟันนั้น ศ.ทญ.อรสา อธิบายว่า คือการนำฟันคุดในช่องปากของคนไข้คนเดียวกันจากบริเวณหนึ่งมาใส่ในบริเวณช่องว่างหลังจากผู้ป่วยได้รับการถอนฟันแท้หรือฟันน้ำนม เพื่อเป็นการทดแทนการสูญเสียฟันแท้ ส่วนค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยก็ 2 เท่าของการผ่าฟันคุด เพราะว่าเป็นการผ่าเพื่อปลูกถ่ายฟัน จะมี 2 แผล แผลหนึ่งเป็นแผลจากการผ่าฟันคุดออกมา อีกแผลคือบริเวณที่จะนำมาปลูกถ่าย
       
       ส่วนระยะเวลาในการปลูกถ่ายฟันหรือผ่าตัดในแต่ละรายไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่มีความซับซ้อนที่ควรให้ความสำคัญ ก็คือ หลังการผ่าตัด คนไข้จะต้องมาให้แพทย์ดูเป็นระยะหรือตามที่แพทย์นัด โดยแพทย์จะต้องดูทางคลินิก เอ็กซเรย์เพื่อเช็คสภาพฟัน รวมถึงการทำความสะอาดที่เหมาะสมกับคนไข้เนื่องเพราะคนไข้จะทำความสะอาดบริเวณนั้นได้ไม่ดี จากนั้นเริ่มให้คนไข้เริ่มใช้ฟัน คือฟันจะแข็งได้ต้องใช้งาน จะเริ่มให้เคี้ยวอาหารอ่อนเรื่อยไปจนถึงอาหารแข็ง
 “1 เดือนหลังการผ่าตัดจะให้คนไข้เคี้ยวอาหารอ่อน ช่วงแรกคนไข้จะมีความรู้สึกว่าฟันโยกนิดหน่อยแต่ไม่มีปัญหาฟันจะค่อยๆ แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง 3 เดือน จะเคี้ยวอาหารได้ปกติและไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 คำว่าปกติไม่ใช่จะใช้ฟันไปกัดน้ำแข็งนะ”
       
       ศ.ทญ.อรสา กล่าวถึงข้อดีของการปลูกถ่ายฟันว่า จะปลูกถ่ายฟันกี่ซี่ก็ได้ ตราบใดที่เรามีหน่อฟัน จะมีกี่ซี่ก็สามารถทำได้หมด แต่เมื่อปลูกถ่ายฟันเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องหมั่นดูแลรักษาฟัน เพราะว่าฟันที่ปลูกถ่ายก็มีสิทธิผุได้เหมือนฟันปกติ ถ้าคราวนี้ไม่หมั่นดูแลทำความสะอาดให้ดีอาจมีสิทธิใส่ฟันชุดที่สามแน่
       
       ศ.ทญ.อรสา บอกด้วยว่า ปัจจุบันคนไข้เริ่มให้ความสนใจปลูกถ่ายฟันเพิ่มมากขึ้น อย่างคนไข้ที่มารักษาที่คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ้าอยู่ในวัยที่สามารถปลูกถ่ายฟันได้แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการทดแทนฟันที่เสียไป และคนไข้ที่เคยปลูกถ่ายฟันไปแล้ว เท่าที่สังเกตตลอดเวลาที่มาพบแพทย์ตามนัด หลายคนปรับตัวมาทำความสะอาดสุขภาพช่องปากดีขึ้น เมื่อทันตแพทย์บอกว่านี่คือซี่สุดท้าย ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกใจ เพราะแต่เดิมคนกลุ่มนี้มักละเลยไม่สนใจที่จะดูแลฟันของตนเองเท่าใดนัก
       
       นอกจากนี้ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไข้ให้ความใส่ใจที่จะมาพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนอีกด้วย
       
       “ความจริงวิธีการปลูกถ่ายฟันมีการทำมานานนับ 10 ปีแต่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึง ก็เพราะว่าไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์ออกไป จึงอยากชวนเชิญให้คนไข้และประชาชนหันมาสนใจใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติก่อน หากหมดวัสดุธรรมชาติค่อยมาพึ่งฟันปลอมแทน”
ศ.ทญ.อรสา กล่าวว่า คนไข้ที่ฟันแท้ถูกถอนไปเนื่องจากฟันพุ พบมากในเด็กโตหรือวัยหนุ่มสาว เมื่อถอนแล้วจะไม่ทำอะไรเลย จึงทำให้ฟันที่เหลืออยู่รวน การขบของฟันผิดปกติ เพราะว่าฟันข้างเคียงจะเริ่มล้มเข้ามาในบริเวณช่องว่างตรงนั้น ทำให้ระนาบและการเรียงตัวของฟันเริ่มผิดปกติ ซึ่งส่งผลทำให้คนไข้จะมีฟันเก และผลกระทบที่ตามมาก็คือการขบฟันที่ไม่ดี จะมีการกระแทกจะมีผลต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อของขากรรไกรและกล้ามเนื้อใบหน้า ให้เกิดการเจ็บปวดตามมาได้
       
       ทั้งนี้ อยากแนะนำให้คนไข้ที่ถอนฟัน ใส่ฟันปลอม ซึ่งฟันปลอมมีหลายแบบตั้งแต่ถอดได้เรื่อยไปจนถึงติดแน่น ถ้าแบบถอดได้มีราคาถูกหน่อยแต่คนไข้ต้องมีภาระถอดมาล้าง หากไม่ล้างฟันข้างเคียงจะผุหมด เกิดโรคเหงือกได้แทนที่จะสูญเสียฟันซี่เดียวก็อาจเสียฟันหลายซี่
       
       ส่วนใส่แบบติดแน่นหรือสะพานฟัน ซึ่งคนไข้จะต้องถูกเหลาฟันข้างเคียงเพื่อครอบฟันหรือหลักยึด ดังนั้น ถ้าฟันข้างเคียงดีอยู่จะทำให้คนไข้สูญเสียฟันที่ดีไป ซึ่งทำให้ผลตามมา ต้องมีการทำความสะอาดที่ดี
       
       อีกวิธีหนึ่งที่มักใช้ก็คือการใส่รากเทียม แต่การใส่รากเทียมจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะต้องพิจารณา ข้อดีคืออาจมีฟันติดแน่นคล้ายฟันธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไข้จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี ถ้าแปรงฟันไม่สะอาดแล้วเกิดการติดเชื้อขึ้น เหงือกล้น กระดูกล้น ผลที่ตามมาค่อนข้างรุนแรง
       
       ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ฟันปลอมหรือการใส่รากเทียมทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปลูกถ่ายฟัน แถมข้อแตกต่างที่เห็นเด่นชัดอยู่ตรงที่การปลูกถ่ายฟันคนไข้จะมีฟันแท้เหมือนฟันธรรมชาติ สภาพเหงือก กระดูกรองรับ คือฟันนั้นจะงอกขึ้นมาซบได้ตามธรรมชาติ ขณะที่ฟันปลอมก็คือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาอยู่ในปากของเรานั่นเอง
 




บทความวิชาการและวิทยาการสมัยใหม่

ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 วันที่ 28/10/2010   11:54:22 article
บทความเรื่อง : ฆาตกรเงียบ วันที่ 21/10/2010   14:28:00
รู้จักกับ “แก๊สน้ำตา” วันที่ 21/10/2010   14:29:59
ความรู้ในเรื่องเลือดส่วนประกอบของเลือด และการบริจาค วันที่ 29/11/2008   13:09:39
7 อาการปวดที่ไม่ควรมองข้าม วันที่ 29/11/2008   13:17:15
การรักษากระดูกหักด้วยการผ่าตัดดามโลหะ วันที่ 04/12/2008   14:35:07
เมื่อเจ้าตัวเล็กกระดูกหัก วันที่ 04/12/2008   14:34:37
การต่อนิ้วหัวแม่มือ วันที่ 04/12/2008   14:35:37
แผลเป็นและเป็นแผล วันที่ 04/12/2008   14:36:31
บาดแผล เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา วันที่ 02/12/2008   09:58:34
ป้องกัน “ดวงตา” จากอุบัติเหตุรถยนต์ วันที่ 04/12/2008   14:33:39
โปรดระวังอันตรายจาก คลอโรฟอร์ม วันที่ 04/12/2008   14:37:49
นอนไม่หลับทำงัยดี วันที่ 04/12/2008   14:32:25
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม วันที่ 00/00/0000   00:00:00
กลัวการผ่าตัดอ่านทางนี้ วันที่ 00/00/0000   00:00:00
ตรวจมะเร็งได้จากการตรวจเลือด วันที่ 04/12/2008   14:31:11 article
ปวดต้นคอทำอย่างไร วันที่ 04/12/2008   14:30:24
มันมากับรองเท้า วันที่ 04/12/2008   14:29:21
ตู้ขายน้ำดื่มอัตโนมัติแหล่งปนเปื้อนที่น่ากลัว วันที่ 04/12/2008   14:29:42 article
คนไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมีย วันที่ 04/12/2008   14:28:50